20 ธันวาคม 2565
สำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน จัดตั้งขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยมีพันธกิจ ดังนี้
- วิเคราะห์เพื่อจัดทำกลยุทธ์การดำเนินงานกองทุน ให้ครอบคลุมอำนาจหน้าที่ และบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุน
- ส่งเสริม และระดมเงินเข้ามาในกองทุน
- เชื่อมโยง การร่วมให้ทุน และการส่งเสริมให้ลงทุนด้าน ววน. กับงบประมาณอื่นของภาครัฐ กองทุนเงินนอกงบประมาณ และเงินภาคเอกชน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในต่างประเทศ
- ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
พันธกิจของสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุน ดังกล่าว ได้พิจารณาความสอดคล้องกับกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566-2570 และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 - 2570 ของ สกสว.ในกลยุทธ์ที่ 4 คือ“ร่วมมือกับแหล่งทุนอื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ให้สนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ร่วมกำหนดเป้าหมาย เพิ่มการลงทุน และประสิทธิภาพของการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศ” เพื่อให้ได้ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติและแปรผลการปฏิบัติสู่ตัวแบบการสนับสนุนงบประมาณรูปแบบต่าง ๆ ของสำนักกลยุทธ์และพัฒนากองทุนจึงมีกลไกหลัก 4 กลไก ได้แก่
- Co-Funding
- Co-Investment
- Co-Operationและ
- Crowdfunding
โดยในแต่ละกลไกมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มเงินลงทุนในระบบ ววน. ของประเทศ รวมถึงกำกับทิศทางงบประมาณ ส่งเสริมและสร้างกลไกการทำงานระหว่าง สกสว. กับแหล่งงบประมาณต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยขับเคลื่อนการลงทุนด้าน ววน.จากแหล่งงบประมาณต่าง ๆ ให้มีความคล่องตัว มีกลไกที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า การลงทุนในระบบ ววน. จะช่วยให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง
แผนกลยุทธ์
สกสว. พ.ศ. 2566
– 2570
- กลยุทธ์ที่ 1 ทบทวนและจัดทำแผนด้าน ววน. อย่างมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และใช้ข้อมูลจากการติดตามและประเมินผล เพื่อส่งมอบคุณค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม
- กลยุทธ์ที่ 2 จัดสรรงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ โดยมีการจัดลำดับความสำคัญมีระเบียบที่เหมาะสมรองรับการจัดสรรงบประมาณแบบมากกว่า 1 ปี และใช้ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาประกอบการพิจารณา
- กลยุทธ์ที่ 3 พัฒนากลไกในการกำกับทิศทางและกรอบการดำเนินงานรวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของ PMU และหน่วยรับงบประมาณ เพื่อให้ PMU และหน่วยรับงบประมาณสามารถส่งมอบผลสัมฤทธิ์ได้ตามเป้าหมายอย่างมีความรับผิดรับชอบ
- กลยุทธ์ที่ 4 ร่วมมือกับแหล่งทุนอื่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ให้สนับสนุนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนด้าน ววน. ร่วมกำหนดเป้าหมาย เพิ่มการลงทุน และประสิทธิภาพของการลงทุนด้าน ววน. ของประเทศ
- กลยุทธ์ที่ 5 สร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระบบ ววน. กับภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามแผนด้าน ววน. ในเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ และกำหนดทิศทางในอนาคตของประเทศ
- กลยุทธ์ที่ 6 สื่อสารเชิงกลยุทธ์เพื่อให้กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตระหนักรู้ และเชื่อมั่นต่อ ววน.
- กลยุทธ์ที่ 7 ยกระดับการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรสมรรถนะสูงอย่างเต็มรูปแบบ